Category ธุรกิจ

ข่าวธุรกิจ-ระหว่างประเทศ

“มาม่า” โกยรายได้ 27,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 2 พันล้านบาท

“มาม่า” โกยรายได้ 27,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 2 พันล้านบาท เหตุเศรษฐกิจปี’65 ฟื้น-โควิดสงบ

“ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ผู้ผลิตบะหมี่มาม่า กวาดรายได้ปี 2565 รวม 27,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.95% เหตุสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบริโภคเพิ่มขึ้นหลังซบเซามากว่า 2 ปี เผยตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2565 อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้าน มาม่ายังครองแชมป์

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA แจ้งผลการดำเนินงานปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัทมีรายได้รวม 27,429.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,018.88 ล้านบาท หรือ 7.95% มีรายได้จากการขายรวม 26,481.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,024.69 ล้านบาท เติบโต 8.28%

มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2,785.92 ล้านบาท ลดลง 788.72 ล้านบาท หรือลดลง 22.06% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 10.16% ของรายได้รวม และมีกำไรส่วนของงบฯเฉพาะกิจการ จำนวน 1,925.50 ล้านบาท ลดลง 28.33%

สำหรับสาเหตุหลักมาจากต้นทุนการขายและค่าใช้จ่ายในการขายที่สูงขึ้น เมื่อแยกรายผลิตภัณฑ์ ในส่วนของบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศ 10,453.84 ล้านบาท เติบโต 8.29% โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโต 6.8% จากกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย ส่วนเส้นขาว โจ๊กและข้าวต้ม เติบโต 27.72% ทั้งนี้สาเหตุที่กลุ่มอาหารกึ่่งสำเร็จรูปเติบโตได้ดีมาจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการส่งออกมียอดขาย 5,150.11 ล้านบาท เติบโต 12.66% โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโต 10.59% เส้นขาว โจ๊กและข้าวต้ม เพิ่มขึ้น 22.36% เป็นผลมาจากการปรับราคาขาย เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนวัตถุดิบและวัสดุที่สูงขึ้น และมูลค่าการขายเพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงสถานการณ์ค่าระวางเรือได้เริ่มปรับลดลง ในช่วงไตรมาส 3/2565 และทยอยลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายยุโรปเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ข่าวธุรกิจ-การตลาด

ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สินค้าเบเกอรี่ มียอดขายในประเทศ 7,528.76 ล้านบาท, ขนมปังกรอบ มียอดขายในประเทศ 752.64 ล้านบาท ส่งออก 35.62 ล้านบาท, น้ำผลไม้ ยอดขายในประเทศ 232.60 ล้านบาท ส่งออก 823.38 ล้านบาท, บรรจุภัณฑ์ ยอดขายในประเทศ 1,156.49 ล้านบาท ส่งออก 25.36 ล้านบาท

ด้านต้นทุนการขายอยู่ที่ 18,876.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,749.31 ล้านบาท หรือ 17.05% เนื่องจากวัตถุดิบหลักและค่าพลังงานเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนต้นทุนขายต่อรายได้จากการขายเท่ากับ 71.28% สูงกว่าปีก่อนหน้า 5.34%

“ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจปี 2565 เป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจซบเซามากว่า 2 ปี ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว แต่กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัย อาทิ เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น”

โดยมูลค่าตลาดบะหมี่และเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 17,106 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12.2 จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการปรับราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 ซึ่งแบรนด์มาม่าสามารถรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดรวมร้อยละ 49

ในปี 2565 บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมดำเนินงาน จำนวน 3,313.43 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุน และจากการจัดหาเงินจำนวน 1,937.90 ล้านบาท และ1,119.26 ล้านบาท ตามลำดับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 3,827.28 ลา้นบาท สูงกว่าปี 2564 เป็นเงิน 238.70 ล้านบาท

ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทตลอดปี 2565 ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันปาล์มที่เป็นวัตถุดิบหลักใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัวมาตั้งแต่ปลาย 2564 ส่งผลให้ต้นทุนขายรวมของกลุ่มบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มบะหมี่และอาหารสำเร็จรูปเป็นรายได้หลักของกลุ่มบริษัท

โดยมีสัดส่วนการขายกึ่งหนึ่งของรายได้จากการขายรวม ประกอบกับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายภายในประเทศไทยเป็นสินค้าควบคุมราคาขายปลีกโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในได้อนุมัติให้บริษัททยอยปรับราคาขายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ในช่วงไตรมาส 3 เพื่อให้กระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนหรือ ESG ภายใต้หลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล ASEAN Asset Class PLCs ประจำปี 2564 ทำคะแนนได้ตั้งแต่ 97.50 จากการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน

“อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยและอิทธิพลหลักที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือฐานะการเงินในอนาคต ทั้งจากสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และความเสี่ยงทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง รวมถึงวิกฤตราคาพลังงาน” เอกสารตอนหนึ่งที่รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯระบุในตอนท้าย

แนะนำข่าวธุรกิจ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : ธุรกิจแห่งความสุข เป้าหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจและยกระดับธุรกิจในชุมชน

ธุรกิจ

ธุรกิจแห่งความสุข เป้าหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจและยกระดับธุรกิจในชุมชน

หากพูดถึงการเอาความสุข มาเป็นจุดยืนในการทำธุรกิจ เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวการเล่าแบรนด์ต่าง ๆ มานับไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่ง

เพราะธุรกิจที่จะกล่าวถึงเริ่มต้นจากความสุข เติบโตได้ด้วยความสุข และสามารถอยู่ได้อย่างยืนยาวด้วยการแบ่งปันความสุข ซึ่งความสุขที่ว่านี้ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 45 ปีแล้ว บนถนนย่านเยาวราช

ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อน เจ้าของผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ได้มีโอกาสพาคุณแม่ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งอาหารที่รับประทานกันในวันนั้นคือสุกี้ ที่เป็นตำรับกวางตุ้ง ความสุขและบรรยายกาศการรวมตัวของครอบครัวในอาหารเย็นวันนั้นเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขบนใบหน้าของคุณแม่

จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้น ร้านอาหารสุกี้ ตำรับแต้จิ๋วตามที่มาของครอบครัวซึ่งใช้ชื่อของกิจการตามชื่อโรงหนังที่ตั้งอยู่ในระแวกนั้น และเป็นที่รู้จักกันอย่างดีบนถนนเล็ก ๆ เส้นนั้น

ความสุขที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานบนถนนเส้นนั้น เกิดขึ้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อแรกเริ่ม พื้นที่บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ หาที่จอดรถยาก หากจะมีร้านอาหารตั้งอยู่ตรงนี้ก็คงยากที่จะมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาฝากท้องยามหิว

อีกทั้งเล็งเห็นว่า หากสามารถปรับเปลี่ยนร่วมกันทั้งถนนก็คงทำให้เกิดการกระจายความสุขของร้านค้าเล็ก ๆ แถวนั้นได้อย่างทั่วถึง

ธุรกิจ

“เท็กซัส สุกี้” จึงเริ่มพูดคุยกับร้านค้าเล็ก ๆ ที่อยู่บนถนนเส้นนั้นเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนียภาพให้น่ามองพร้อมต้อนรับลูกค้าที่ผ่านไปมา และปรับสร้างถนนให้เป็นเหมือนที่เราทุกคนเห็นในปัจจุบันเพื่อยกระดับการค้าย่านนั้นให้เหมาะกับการเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าบนถนนเล็ก ๆ เส้นนั้นมากขึ้น

ธุรกิจร้านอาหารเท็กซัส สุกี้ดำเนินมาด้วยความเอาใจใส่ตามความตั้งใจที่ต้องการให้ลูกค้าที่เข้ามาได้รับประทานอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ แต่ราคาย่อมเยาเข้าถึงง่ายตามสโลแกน “กินอย่างราชา ราคามิตรภาพ”

เพื่อให้ลูกค้าได้มีความสุขจากมื้อสุขภาพของทางร้าน จึงทำให้หน้าตาลูกค้าของร้านคุ้นเคยกันรุ่นต่อรุ่น เพราะส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่เข้ามา จะเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญของการรวมตัวกันอย่างช่วงวันตรุษจีน

ด้วยความที่ร้านรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายดังกล่าว เกิดซ้ำ ๆ และมีประสบการณ์ร่วมตั้งแต่เด็กจนเติบโตมีครอบครัว และเมื่อมีครอบครัวก็ยังคงพาลูกหลานกลับมารับประทานอาหารที่นี่อีก กลายเป็นเหมือนอาหารวัฒนธรรมประจำครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น

ส่งผลให้เกิด Loyalty กับธุรกิจและการส่งต่อไปถึงลุกค้ากลุ่ม Generation ใหม่ ๆ จากประสบการณ์ที่ได้รับสืบทอดกันมา ทั้งนี้เพราะทางร้านเองให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยการเดินพูดคุยสอบถามไปมาอย่างเป็นกันเองในบรรยากาศครอบครัว

ทำให้ได้รับ Feedback และ Insight ของลูกค้าเพื่อมาปรับปรุงรสชาติของอาหาร น้ำซุปและพัฒนาเมนูคุณภาพให้หลากหลายตามยุคสมัยได้อย่างต่อเนื่อง

เช่นนี้เองจึงทำให้ร้านอาหารที่อยู่มานานยังคงรสชาติและยังปรับตัวรองรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ด้วยในเวลาเดียวกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อได้พูดคุยกับทางร้านเกี่ยวกับความหลากหลายเมนูใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เท็กซัส สุกี้ ยังคงเน้นการพัฒนาคุณภาพของอาหารและรักษามาตรฐานตามความตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อยังคงให้ลูกค้าได้รับอาหารทุกเมนูที่มีคุณภาพอยู่แม้ว่าจะมีช่วงที่สภาพเศรษฐกิจไม่เป็นไปอย่างที่คิด

ลูกค้าที่แวะมารับประทานอาหารเองก็ยังคงรับรู้ได้จากการลิ้มรสคุณภาพของวัตถุดิบที่คุณภาพดีไม่เคยเปลี่ยน แม้กระทั่งลูกชิ้นปลาที่เป็นหนึ่งในเมนูประจำร้านก็ได้ปรับเปลี่ยน ตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลา

ช่วงเวลาที่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศไทยช่วงแรก ๆ เท็กซัส สุกี้ จำเป็นต้องปิดร้านตามคำสั่งประกาศ สิ่งที่ทางร้านทำได้คือ การเลือกเก็บพนักงานและดูแลพนักงานเป็นอย่างดี

โดยจัดสถานภายในร้านปรับให้เป็นที่พักสำหรับพนักงานและจัดทำอาหารทุกมื้อ เพื่อรักษาจำนวนผู้ที่ส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าให้อยู่รอดปลอดภัย พร้อมเตรียมรอโอกาสในการเปิดหน้าร้านอีกครั้ง

ในขณะเดียวกันก็ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแอปต่าง ๆ อย่าง โรบินฮู้ด เพื่อส่งอาหารที่ทำสำเร็จแล้วให้กับลูกค้า เพียงเพราะต้องการให้ลูกค้าเองนั้นยังคงได้รับประทานอาหารคุณภาพดี และดีต่อสุขภาพในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ๆ

ตลอดระยะเวลากว่า 45 ปีที่ธุรกิจร้านอาหารเท็กซัส สุกี้ ยังคงอยู่มาได้อย่างยาวนาน คงไม่ใช่เพียงแค่การรักษาคุณภาพอาหารให้ดีอยู่ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น

แต่คือ ความตั้งใจที่ชัดเจนและเหตุผลของการเริ่มธุรกิจและการทำให้ความสุขของมาเป็นรูปร่างที่จับต้องได้ผ่านอาหารไปถึงผู้บริโภค หรือผ่าน Stakeholder ที่อยู่รอบตัวธุรกิจเพื่อเอื้อต่อการธุรกิจโดยทั่วถึงกัน

นี่คงเป็นอีกหนึ่งมุมอง ที่อาจทำให้เราได้ลองทบทวนเป้าหมายของการทำธุรกิจ และการจัดการบริหารธุรกิจในแต่ละมิติ เพื่อการเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว.